กฏเกณฑ์การพิจารณารับประกันภัย

คุณสมบัติของธุรกิจที่มีสิทธิสมัครเอาประกันภัย

  • ธุรกิจขนาดเล็ก และกลางที่ประกอบด้วยจำนวนพนักงานประจำ 5-19 คน ซึ่งไม่มีกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มสวัสดิการพนักงานที่มีความคุ้มครองประเภทเดียวกัน และยังมีผลบังคับกับ เอไอเอ (“บริษัท”) ณ ปัจจุบัน
  • พนักงานที่มีสิทธิจะต้องเป็นพนักงานประจำที่ปฏิบัติงานเต็มเวลา และเป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปี และไม่เกิน 65 ปี ในวันที่ความคุ้มครองตามกรมธรรม์มีผลบังคับ
  • อายุเฉลี่ยของพนักงานทั้งหมดจะต้องไม่เกิน 45 ปี

หลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก

  • พนักงานทั้งหมดจะต้องเข้าร่วมทำประกันภัย
  • พนักงานที่มีสิทธิเอาประกันภัยทั้งหมดจะต้องกรอกใบสมัครแถลงสุขภาพตามแบบฟอร์มของเอไอเอ (ดาวน์โหลดแบบฟอร์มที่นี้)
  • วันที่เริ่มที่ผลบังคับตามกรมธรรม์ประกันภัยจะเป็นวันถัดไป หลังจากที่บริษัทได้รับเอกสารประกอบการสมัครครบถ้วน และอนุมัติการรับประกันภัยแล้ว
  • กรณีที่พนักงานเข้าร่วมทำประกันภัยระหว่างปีกรมธรรม์ วันที่เริ่มมีผลบังคับตามกรมธรรม์ประกันภัยจะเป็นวันที่ 1 ของเดือนถัดไป หลังจากที่บริษัทได้รับเอกสารการสมัครครบถ้วน และอนุมัติการรับประกันภัยแล้ว

กฏเกณฑ์การสมัครทำประกันภัยให้กับคู่สมรส และบุตรของพนักงาน

  • ผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาล และสัญญาเพิ่มเติม 40 โรคร้ายแรง จะให้ความคุ้มครองแก่คู่สมรสของพนักงานที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปี และบุตรที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 2 อาทิตย์ และไม่เกินกว่า 18 ปี และยังมิได้สมรส ทั้งนี้ จะขยายความคุ้มครองให้แก่บุตรที่มีอายุระหว่าง 18 ปี จนถึง 23 ปี โดยเป็นผู้ซึ่งกำลังศึกษาเต็มเวลา และยังมิได้สมรส
  • คู่สมรส และบุตรที่มีสิทธิเอาประกันภัยจะต้องสมัครเอาประกันภัย ภายใต้แบบแผนเดียวกันกับพนักงาน (เฉพาะประกันสุขภาพ และ 40 โรคร้ายแรงเท่านั้น)
  • กรณีที่นายจ้างต้องการสมัครทำประกันภัยสุขภาพ และสัญญาเพิ่มเติม 40 โรคร้ายแรงให้แก่คู่สมรส และบุตรของพนักงาน คู่สมรสและบุตร ที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมการรับประกันของพนักงานทุกท่านจะต้องทำประกันภัย
  • คู่สมรส และบุตรที่มีสิทธิเอาประกันทั้งหมดจะต้องกรอกใบสมัครแบบแถลงสุขภาพตามแบบฟอร์มของบริษัท (ดาวน์โหลดแบบฟอร์มที่นี้)

ระดับขั้นอาชีพ

  • ผลประโยชน์การประกันภัยจะให้ความคุ้มครองแก่ธุรกิจที่มีความเสี่ยงไม่เกินระดับอาชีพขั้น 2

เบี้ยประกันภัย

  • เบี้ยประกันภัยเป็นแบบชำระรายปี
  • นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบชำระเบี้ยประกันภัยของพนักงาน คู่สมรส และบุตรทั้งหมด

การเลือกแผนประกันภัย

  • พนักงานที่มีสิทธิเอาประกันภัยและอยู่ในตำแหน่งงานเดียวกันจะต้องสมัครทำประกันภัยแบบแผนเดียวกัน
  • 1 กรมธรรม์สามารถประกอบด้วยแผนประกันภัยไม่เกินกว่า 3 แผน (กำหนดแผนประกันภัยได้สูงสุด 3 แผน ต่อ 1 กรมธรรม์)
  • ความคุ้มครองบังคับตามแผนประกันภัยหลัก ได้แก่ ประกันชีวิต อุบัติเหตุ ทุพพลภาพ และค่ารักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยใน
  • ความแตกต่างระหว่างแผนประกันภัยจะต้องไม่เกินกว่า 3 ระดับแผน เช่น กรณีที่เลือกแผนประกันภัยที่ 1 เป็นแผนประกันภัยต่ำสุด ดังนั้น แผนประกันภัยสูงกว่าที่สามารถเลือกได้ถัดไป คือ แผนประกันภัยที่ 4
  • ผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยนอก ค่ารักษาทันตกรรม และสัญญาเพิ่มเติม 40 โรคร้ายแรง เป็นผลประโยชน์ที่นายจ้าง สามารถเลือกทำเพิ่มเติมได้ แต่หากเลือกทำแล้วพนักงานจะต้องเข้าร่วมในความคุ้มครองทุกคน
  • พนักงานสามารถเลือกผลประโยชน์ความคุ้มครองข้ามแบบแผนประกันภัยได้เฉพาะผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยนอก และ/หรือ ค่ารักษาทันตกรรมเท่านั้น
  • แผนของสัญญาเพิ่มเติม 40 โรคร้ายแรง จะต้องตรงกับแผนประกันภัยหลัก

เอกสารประกอบการสมัคร

  • ใบคำขอเอาประกันภัยกลุ่มสวัสดิการพนักงาน (สำหรับนายจ้าง)
  • สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนการค้าเป็นนิติบุคคล และสำเนาบัตรประชาชนของผู้มีอำนาจ พร้อมลงนามประทับตรา
  • ใบสรุปรายละเอียดข้อมูลของพนักงาน รวมถึงของคู่สมรส และบุตรทั้งหมด (ถ้าสมัคร)
  • ใบสมัครขอเอาประกันภัยของพนักงานแบบแถลงสุขภาพ โดยพนักงานเป็นผู้กรอกรายละเอียดทั้งหมด
  • ใบสมัครขอเอาประกันภัยของคู่สมรส และบุตรแบบแถลงสุขภาพ (ถ้าสมัคร)
  • สำเนาบัตรประชาชนของพนักงาน คู่สมรส และบุตรแต่ละคน พร้อมลงนามกำกับรับรองสำเนาถูกต้อง
  • เช็ตชำระเบี้ยประกันภัย สั่งจ่าย “บริษัท เอไอเอ จำกัด”

ระยะเวลารอคอย

สัญญาเพิ่มเติม 40 โรคร้ายแรงนี้ จะไม่คุ้มครองถึงความเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นใดนอกเหนือจากโรคร้ายแรงที่กำหนดไว้ในสัญญาเพิ่มเติมนี้ และไม่รวมถึงความเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงที่กำหนดไว้ในสัญญาเพิ่มเติมนี้ หรือความเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงอื่นๆที่เกิดขึ้นก่อนผู้เอาประกันภัยเข้าร่วมการประกันภัย หรือก่อนพ้นกำหนดระยะเวลา 60 วัน นับแต่วันที่สัญญาเพิ่มเติมของผู้เอาประกันภัยแต่ละคนมีผลบังคับ

ตัวอย่างข้อยกเว้นความคุ้มครองประกันชีวิต


บริษัทจะไม่จ่ายเงินตามกรมธรรม์ประกันภัย เมื่อปรากฏว่า สมาชิกฆ่าตัวตาย (กระทำอัตวินิบาตกรรม) ด้วยใจสมัครภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่เข้าร่วมประกันภัย / สมาชิกถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา
การนำส่งเบี้ยประกันเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกัน การที่ตัวแทนประกันชีวิต หรือนายหน้าประกันชีวิตมาเก็บเบี้ยประกันภัยเป็นการให้บริการเท่านั้น